วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2559

การดูแลผู้สูงอายุด้านอาหารและโภชนาการ
หลักโภชนาการของผู้สูงอายุ
1.พลังงานที่ผู้สูงอายุควรได้รับ
       ผู้สูงอายุควรได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ คือ วันละ 1,500-2,000 กิโลแคลอรี จากการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลาย วันละ 3 มื้อ พอประมาณ และมีอาหารว่าง 2 มื้อ โดยทุกมื้อควรมีผักผลไม้เพื่อเพิ่มกากอาหาร
2.สารอาหารในอาหารของผู้สูงอายุ
       2.1 โปรตีน ผู้สูงอายุมีความต้องการโปรตีนประมาณ 1 กรัม/น้ำหนักตัว(กิโลกรัม) ต่อวัน เพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ป้องกันภาวะกล้ามเนื้อลีบ และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ควรได้รับโปรตีนวันละ 60 กรัม โดยเลือกรับประทานโปรตีนคุณภาพดี เช่น เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ไข่ดาว ดื่มนมพร่องมันเนยและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเป็นประจำ
       2.2 คาร์โบไฮเดรต เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานกับร่างกาย ได้แก่ อาหารกลุ่มข้าว แป้ง ผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารกลุ่มนี้ให้เพียงพอเพื่อรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และควรเลือกรับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ลูกเดือย
       2.3 ไขมัน ผู้สูงอายุต้องการพลังงานจากไขมันเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ร่างกายได้รับกรดไขมันจำเป็นและวิตามินที่ละลายในไขมันเพียงพอ ผู้สูงอายุควรลดหรือจำกัดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ไขมันจากสัตว์ เนย น้ำมัน กะทิ ครีมเข้มข้น เป็นต้น
      2.4 วิตามินและแร่ธาตุ มีความจำเป็นสำหรับผู้สูงอายุในการควบคุมระบบต่างๆภายในร่างกายให้เป็นปกติ แร่ธาตุที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้สูงอายุคือ แคลเซียม ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนและสร้างมวลกระดูกให้มีความหนาแน่น ผู้สูงอายุต้องการแคลเซียมอย่างน้อยวันละ 1,000 มิลลิกรัม อาหารทุกมื้อควรมีแคลเซียมโดยเฉลี่ยมื้อละ 300 มิลลิกรัม อาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียม ได้แก่ นมถั่วเหลืองเพิ่มแคลเซียม นมสด ผลิตภัณฑ์จากนม (เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยวไม่หวานจัด) ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง (เช่น ฟองเต้าหู้) ปลาตัวเล็กที่รับประทานได้ทั้งกระดูก (เช่น ปลาข้าวสาร) ผักใบเขียวเข้ม ผักสีส้ม (เช่น คะน้า กวางตุ้ง ตำลึง ใบยอ ฟักทอง แครอท)
      2.5 น้ำ ผู้สูงอายุควรดื่มน้ำสะอาดหรือเลือกดื่มน้ำสมุนไพรไม่หวานจัดสลับกับน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว น้ำเป็นส่วนประกอบของเลือดที่จะช่วยนำสารอาหารต่างๆ ไปให้ยังอวัยวะต่างๆภายในร่างกายและช่วยขับถ่ายของเสีย ทำให้รู้สึกสดชื่น
หลักการจัดอาหารสำหรับผู้สูงอายุ
1. ลดปริมาณอาหารแต่ละมื้อลง แต่ให้รับประทานบ่อยขึ้น เพื่อผ่อนการทำงานของระบบการย่อยอาหาร เช่นวันหนึ่งอาจให้รับประทาน 4-5 ครั้ง แทนที่จะรับประทานวันละ 3 ครั้งเช่นเดิม
2. ลดปริมาณอาหารประเภทให้แรงงาน คือ พวกแป้งและไขมันลงร้อยละ 10-30 ตามอายุที่สูงเกิน 40 ปีขึ้นไป
3. อาหารพวกเนื้อสัตว์คงเดิม แต่ดัดแปลงให้กินง่าย ย่อยง่าย เช่น ต้มเปื่อย หรือสับละเอียด
4. มื้อเย็นไม่ควรเป็นอาหารหนัก
5. ให้ดื่มเครื่องดื่มร้อนๆ ก่อนนอนจะทำให้นอนหลับสนิทดี
6. ให้รับประทานอาหารร้อนดีกว่าอาหารเย็น น้ำแกงหรือน้ำซุบร้อนๆ ก่อนอาหาร จะช่วยให้กินได้มาก
7. เครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นเล็กน้อย เช่น น้ำชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ถ้าไม่เป็นโรคที่แพทย์ห้าม เช่น โรคหัวใจก็ดื่มได้เล็กน้อย เพราะจะช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น
8. ให้ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อเซลล์จะได้ทำงานได้ตามปรกติ
9. อาหารต้องเป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย และไม่มีรสจัด
10. อาหารที่รับประทานควรมีส่วนของกากบ้างพอควรเพื่อไม่ให้ท้องผูก
11. ส่วนประกอบของอาหารต่างๆ โดยเฉพาะแคลเซียม วิตะมิน แร่ธาตุ และสารโปรตีนต้องมีปริมาณเพียงพอและครบชนิด และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง
12. นอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว อาหารนั้นควรมีสีสัน กลิ่น รส ชวนให้อยากรับประทานด้วย



โภชนบัญญัติสำหรับผู้สูงอายุ
ยึดหลักเช่นเดียวกับโภชนบัญญัติ 9 ประการสำหรับคนไทย ได้แก่
           ๑.  รับประทานอาหารครบ  ๕  หมู่  แต่ละหมู่ให้มีความหลากหลาย  และหมั่นดูแลน้ำหนักตัว  ใน  ๑  วันเราควรรับประทานอาหารให้ครบ  ๕  หมู่  ดังนี้  อาหารหมู่ที่  ๑  ได้แก่  เนื้อสัตว์ต่างๆ  เครื่องในสัตว์  ไข่  นม  ถั่วเมล็ดแห้ง  ผลิตภัณฑ์จากนม  อาหารหมู่ที่  ๒  ได้แก่  ข้าวต่างๆ  อาหารทำจากแป้ง  เผือก  มัน  อาหารหมู่ที่  ๓  ได้แก่  ผักใบเขียวและผักต่าง ๆ  อาหารหมู่ที่  ๔  ได้แก่  ผลไม้ต่างๆ  อาหารหมู่ที่  ๕  ได้แก่  ไขมันจากสัตว์และไขมันจากพืช  เราควรเลือกรับประทานอาหารในแต่ละหมู่ให้หลากหลายไม่ซ้ำซ้อน  และที่สำคัญคือ  ควรหมั่นดูแลน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานให้เหมาะสมตามวัย
            ๒.  รับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก  สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ  ข้าวจัดเป็นอาหารหลักของคนไทย  ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการมาก  โดยเฉพาะข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อย  เช่น  ข้าวซ้อมมือ  หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า  “ข้าวกล้อง”  ซึ่งนอกจากให้สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตแล้ว  ยังมีวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากอีกด้วย  หากเบื่อข้าวก็สามารถรับประทานอาหารประเภทแป้งอื่นๆ  สลับเป็นบางมื้อได้  เช่น  ก๋วยเตี๋ยว  บะหมี่  ขนมปัง  เป็นต้น  แต่คุณค่าของอาหารเหล่านี้จะน้อยกว่าการได้รับจากข้าว
            ๓.  รับประทานผักให้มากและรับประทานผลไม้เป็นประจำ  พืชผักและผลไม้เป็นอาหารที่ให้สารอาหารที่จำเป็นแก่ร่างกาย  คือ  วิตามินและแร่ธาตุ  เป็นอาหารที่ช่วยในการป้องกันโรค  นอกจากนี้ยังมีใยอาหารที่ให้ปริมาณสูง  ช่วยทำให้ขับถ่ายสะดวก  ช่วยกวาดเศษอาหารในสำไส้ออกมาลดการบูดเน่า  และช่วยให้ท้องไม่ผูก
            ๔.  รับประทานปลา  เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน  ไข่  และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ  อาหารข้างต้นเป็นอาหารที่ให้สารอาหารโปรตีนเป็นสำคัญ  ซึ่งช่วยในการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ  เป็นสารอาหารที่จำเป็นอย่างยิ่งของเด็กในวัยเรียน  หากขาดโปรตีนแล้วจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและสมอง
            ๕.  ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย  นมเป็นอาหารที่มีประโยชน์ตั้งแต่วัยทารก เป็นอาหารที่ย่อยง่าย  อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  เช่น  โปรตีน  แคลเซียม  วิตามินต่าง ๆ  เด็กในวัยเรียนมีความต้องการสารอาหารเหล่านี้มาก  เพราะอยู่ในวัยเจริญเติบโต  ร่างกายต้องนำไปสร้างกระดูก  ฟัน  กล้ามเนื้อ  เป็นต้น
            ๖.  รับประทานอาหารที่มีไขมันพอควร ไขมันจากพืชและสัตว์เป็นสารอาหารที่ให้พลังงานที่สูงที่สุดแก่ร่างกาย  และเป็นตัวละลายวิตามินเอ  ดี  อี  และเค ให้แก่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้  แต่ต้องรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ  ควรใช้ไขมันจากพืชในการปรุงอาหารมากกว่าไขมันจากสัตว์  และไม่ควรเกิน  ๓  ช้อนโต๊ะต่อวัน  หากรับประทานไขมันในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เกิดการสะสมในร่างกาย  โดยถ้าสะสมในหลอดเลือดจะทำให้เกิดไขมันอุดตันในเส้นเลือด  เป็นอันตรายต่อหัวใจและสมอง  และถ้าสะสมตามร่างกายจะทำให้เกิดโรคอ้วนได้  
            ๗.  หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสหวานและเค็มจัด  อาหารที่มีรสหวานจัดนั้นมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบของอาหารมาก  การรับประทานน้ำตาลในปริมาณมาก  จะทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการเกิดโรค  เช่น  โรคอ้วน  โรคเบาหวาน  เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารรสเค็มจัด  ซึ่งมีส่วนประกอบของเกลือโซเดียมสูง  อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อไตและผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูงด้วย
            ๘.  รับประทานอาหารที่สะอาด  ปราศจากการปนเปื้อน  นอกจากอาหารจะมีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว  ถ้าอาหารเหล่านั้นเกิดการปนเปื้อนจากเชื้อโรคและสารเคมีต่างๆ  ก็จะทำให้เกิดโทษต่อร่างกายได้  ดังนั้นเราควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ  สดสะอาด  ปราศจากสัตว์นำโรค  และแมลงวันตอม  รวมทั้งอาหารที่มีสีสันฉูดฉาด  ก็ไม่ควรรับประทานเช่นกัน
            ๙.  งดเครื่องดื่มมึนเมา  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เช่น  สุรา  ยาดอง  เหล้า  เบียร์  ไวน์  ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง  ทำให้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง  มะเร็งตับ  เป็นต้น  จึงควรเลือกดื่มเฉพาะเครื่องดื่มที่มีประโยชน์เท่านั้น  เช่น  น้ำผัก  น้ำผลไม้  เป็นต้น
การดูแลผู้สูงอายุด้านการเคลื่อนไหวและการออกกำลังกาย
ควรดูแลให้ผู้สูงอายุได้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย (Physical activity) ทุกส่วนอยู่เสมอเช่น การเดิน การบริหารกล้ามเนื้อและข้อต่างๆที่สำคัญเช่น ข้อเข่า ข้อไหล่ และข้อนิ้วต่างๆ เพราะข้อต่างๆจะติดขัดได้ง่ายจากการเสื่อมถอยของเนื้อเยื่อข้อกระดูกและกล้ามเนื้อเช่น การช่วยงานบ้านที่เหมาะสมกับสุขภาพเช่น กวาดบ้าน รดน้ำต้นไม้ ช่วยดูแลหลานที่โตแล้ว แต่การดูแลเด็กอ่อนและเด็กเล็กควรต้องมีผู้ช่วยผู้สูงอายุด้วย
ควรจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุได้เคลื่อนไหวเสมอ ไม่นั่งแช่ดูทีวีหรือนอนอยู่แต่บนเตียง การช่วยกันจัดให้มีการรวมกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนเพื่อกิจกรรมต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ช่วยผู้สูงอายุทั้งสุข ภาพกายและสุขภาพจิต
ส่วนการออกกำลังกาย (Exercise) หมายถึงการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวที่เพิ่มการใช้พลัง งาน นอกเหนือจากการเคลื่อนไหวร่างกายในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อน เสมอ เพื่อแนะนำวิธีการในการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพของผู้สูงอายุแต่ละคน
โดยทั่วไปการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุคือ การเดิน ซึ่งเมื่อไม่มีปัญหาด้านสุขภาพ แพทย์มักแนะนำการเดินวันละประมาณ 20 - 30 นาทีทุกๆวัน ซึ่งในการเดินควรต้องหาสถานที่ให้ปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุโดยเฉพาะการล้ม การใส่เครื่องช่วยพยุงต่างๆเช่น พยุงข้อเท้าและพยุงข้อเข่า รวมทั้งต้องเลือกรองเท้าที่เหมาะสมต่อการเดิน ป้องกันอุบัติเหตุต่อการล้มและต่อข้อต่างๆ ซึ่งทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์และนักกายภาพบำบัดก่อน

การดูแลผู้สูงอายุด้านการขับถ่าย
ผู้สูงอายุมีปัญหาในการขับถ่ายเสมอทั้งการปัสสาวะและการอุจจาระ จากการเสื่อมถอยของ เซลล์ต่างๆรวมทั้งของกล้ามเนื้อหูรูดต่างๆ
การถ่ายปัสสาวะ ผู้สูงอายุทั้งหญิงและชายมักมีปัญหาจากการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และการ ปัสสาวะบ่อย ซึ่งผู้หญิงจะพบบ่อยกว่าผู้ชายรวมทั้งอาการรุนแรงกว่า เพราะขาดฮอร์โมนเพศจาก การหมดประจำเดือนถาวร
ดังนั้นในการดูแลผู้สูงอายุจึงต้องใส่ใจในเรื่องนี้ จัดห้องพักอาศัยให้ใกล้ห้องน้ำ เครื่องนุ่งห่มควรต้องใส่ถอดได้ง่าย สอนให้ผู้สูงอายุรู้จักใช้ผ้าอ้อมอนามัย แต่ควรให้ผู้สูงอายุเลือกและทดลองใช้แบบต่างๆด้วยตนเองเช่น แบบเป็นแถบคล้ายใส่ผ้าอนามัยหรือแบบคล้ายกางเกง รวมทั้งในด้านความหนาและกลิ่นของผ้าอ้อมอนามัย
ในการเดินทาง การท่องเที่ยว และกิจกรรมต่างๆควรต้องดูแลในเรื่องห้องน้ำให้สะดวกสำ หรับผู้สูงอายุเสมอ
นอกจากการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แล้ว ผู้สูงอายุหลายท่านยังไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะอุจจาระเล็ด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ผู้สูงอายุไม่อยากเข้าสังคม ดัง นั้นจึงต้องระมัดระวังในเรื่องอาหารเสาะท้องที่ทำให้ท้องเสียได้ง่าย นอกจากนั้นก่อนพาผู้สูงอายุ ไปไหน ควรให้เวลาได้เข้าห้องน้ำถ่ายอุจจาระก่อน และควรต้องฝึกผู้สูงอายุให้ถ่ายเป็นเวลา และมีชุดชั้นในสำรองสำหรับผู้สูงอายุเสมอ
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาจากอาการท้องผูก จากกระเพาะอาหารและลำไส้ลดการบีบตัวตามอายุ การเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง การไม่ได้ออกกำลังกาย การกินผักผลไม้น้อย ไม่ชอบดื่มน้ำ และอาจจากผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่รักษาโรคเรื้อรังของผู้สูงอายุเช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด ดังนั้นผู้สูงอายุเองและผู้ดูแลจึงควรช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ กินผักผลไม้มากๆ (อาจใช้การหั่นเป็นชิ้นเล็กหรือเลือกชนิดที่เคี้ยวง่ายหรือใช้เครื่องปั่นช่วย ) และดื่มน้ำมากๆ (ตั้งขวดน้ำไว้ให้เห็นและแนะนำให้ดื่มให้หมด)
ผู้ดูแลและครอบครัวควรต้องเข้าใจว่า ปัญหาการขับถ่ายเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ควรรำคาญ หรือแสดงความรังเกียจ ควรต้องช่วยผู้สูงอายุแก้ปัญหา ควรปรึกษาแพทย์/พยาบาล เพราะมีวิธี การทางกายภาพบำบัดที่จะช่วยฝึกกล้ามเนื้อในการขับถ่ายให้แข็งแรงขึ้น และยังมียาช่วยกระตุ้นประสาทควบคุมการขับถ่ายเพื่อช่วยให้กลั้นปัสสาวะ/อุจจาระได้ดีขึ้น
นอกจากนั้นผู้สูงอายุเองควรต้องให้ความร่วมมือดูแลตนเองตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ อย่าขาดกำลังใจเช่น การทำงานต่างๆให้อยู่ใกล้ห้องน้ำไว้ ไม่กลั้นปัสสาวะ/อุจจาระ ระวังเรื่องอาหาร ศึกษาเส้นทางการเดินทางการท่องเที่ยวก่อนเสมอเมื่อต้องเดินทาง เพื่อจัดการปัญหาเรื่องห้องน้ำ และแจ้งครอบครัวถึงความจำเป็นในการเข้าห้องน้ำเสมอ
อีกประการคือ ผู้สูงอายุและผู้ดูแลต้องใส่ใจบริเวณอวัยวะเพศและบริเวณก้น เมื่อมีภาวะกลั้นปัสสาวะ/อุจจาระไม่อยู่ เพราะบริเวณนี้ซึ่งอับชื้นอยู่แล้วจะอักเสบติดเชื้อ ทั้งเชื้อแบคทีเรียรวมทั้งเชื้อราได้ง่าย หรือเกิดเป็นผื่นคันได้ง่ายเช่นกัน ซึ่งการรักษาจะยุ่งยากกว่าการป้องกันดูแลมาก ซึ่งการดูแลที่สำคัญคือ การทำความสะอาดทุกครั้งที่มีการปัสสาวะ/อุจจาระทั้งในภาวะปกติและในภาวะกลั้นไม่อยู่โดย
·         ล้างบริเวณนี้ด้วยน้ำสะอาด ซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด (ควรเตรียมไว้ล่วงหน้าเสมอในการเดินทาง)
·         เมื่ออาบน้ำควรใช้สบู่อ่อนโยน (สบู่เด็กอ่อน) ทำความสะอาดบริเวณนี้เสมอ อย่าใช้สบู่หรือน้ำยารุนแรง
·         สวมใส่ชุดชั้นใน กางเกง หรือกระโปรง ชนิดผ้าที่ถ่ายเทอากาศได้ดีเช่น ผ้าฝ้า100%
·         เปลี่ยนผ้าอ้อมอนามัยบ่อยๆ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง ผื่นผ้าอ้อม)
·         เมื่อเกิดผื่นหรือแผล ควรเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเบตาดีน และถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 - 3 วัน ควรรีบพบแพทย์ก่อนผื่นหรือแผลลุกลาม
อนึ่ง การดูแลผิวหนังบริเวณนี้ในผู้สูงอายุที่ต้องนอนอยู่กับที่หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์/พยาบาลเฉพาะกรณีไป ซึ่งผู้ดูแลควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

การดูแลผู้สูงอายุด้านป้องกันอุบัติเหตุ(ในบ้าน)
          ผู้สูงอายุ
มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุต่างๆได้สูง ที่พบบ่อยคือการล้มและจากการใช้เครื่องใช้ต่างๆ
·         จากการล้ม เพราะปัญหาของการเสื่อมถอยของสมอง (การวิงเวียน ความสามารถในการทรงตัว)กล้ามเนื้อ กระดูก ข้อ การมองเห็นและการได้ยินลดลง ทำให้ผู้สูงอายุลื่นล้มได้ง่าย ดังนั้นจึงต้องจัดบ้านให้ปลอดภัยต่อผู้สูงอายุ ที่จะลื่นหรือสะดุดล้มเช่น ไม่ควรให้นอนกับพื้น เตียงนอนควรเตี้ยในระดับที่ลุกนั่งแล้วเท้ายันพื้นได้พอดี มีที่ยึดเหนี่ยว จัดให้ห้องพักอยู่ใกล้ห้องน้ำ ไม่มีสิ่งของที่เป็นอันตรายในห้องพัก ระมัดระวังเรื่องการใช้พรมปูพื้น พื้นห้องน้ำต้องไม่ลื่น (การมีราวจับจะช่วยการทรงตัวได้ดีขึ้น) ทางเดินต้องสะดวก ไม่วางของเกะกะรวมทั้งบนพื้น หลีกเลี่ยงการใช้บันได และแสงสว่างตามทางเดินต่างๆทุกที่ต้องเพียงพอให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
การเลือกรองเท้าที่กระชับ มีสายรัด หัวท้ายปิด นุ่มสบาย ส้นเตี้ย สะดวกต่อการสวมใส่ และการถอด (ไม่ควรเลือกชนิดมีสายผูกร้อยควรเป็นแถบกาว) และการใช้ไม้เท้าช่วยในการเดิน ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญช่วยลดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุนอกจากนี้ควรต้องพูดคุยแนะนำกับผู้สูงอายุถึงวิธีใช้อุปกรณ์ต่างๆซึ่งต้องง่ายและปลอดภัย หรือห้ามใช้อะไรบ้าง? เช่น ห้ามใช้เตาแก๊ส ห้ามจุด ธูป/เทียนไหว้พระ และในการดูแลตนเองของผู้สูงอายุเมื่อไม่มีคนอยู่บ้าน เป็นต้น

การดูแลผู้สูงอายุด้านการติดเชื้อและโรคประจำตัว
โดยธรรมชาติของการเสื่อมถอยของเซลล์ในทุกๆระบบรวมทั้งระบบสร้างภูมิคุ้มกันต้านทาน โรค ผู้สูงอายุจึงมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าคนทั่วไปเสมอ ส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่ายและมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง บ่อยครั้งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ ดังนั้น ตัวผู้สูงอายุเอง ผู้ดูแลและครอบ ครัวต้องใส่ใจและร่วมกันรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) อย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอ กาสเกิดการติดเชื้อของผู้สูงอายุ
นอกจากนั้นผู้สูงอายุมักเกิดโรคเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของการใช้พลังงานในร่าง กายเช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นตัวผู้สูงอายุเองและ ครอบครัวควรมีการตรวจสุขภาพให้กับผู้สูงอายุสม่ำเสมอ เริ่มได้เลยในทุกอายุ ต่อจากนั้นความถี่ในการตรวจจะขึ้นกับผลตรวจและดุลพินิจของแพทย์ อีกประการสำคัญคือ ควรให้ผู้สูงอายุได้รับการฉีดวัคซีนตากระทรวงสาธารณสุขและ/หรือแพทย์/พยาบาลแนะนำเสมอเช่น วัคซีนโรคไข้ หวัดใหญ่และวัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบ บี
นอกจากนั้น เมื่อพบว่าผู้สูงอายุเจ็บป่วยเป็นโรคต่างๆ ควรต้องใส่ใจดูแลรักษาปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำเสมอ เคร่งครัดกว่าผู้ใหญ่ทั่วไป เพราะผู้สูงอายุจะเกิดผลข้างเคียงต่างๆได้ง่าย และไม่ควรให้ขาดยา รวมทั้งการพบแพทย์ควรต้องสม่ำเสมอตามแพทย์นัด
เมื่อผู้สูงอายุมีอาการเจ็บป่วยโดยเฉพาะเมื่อมีไข้หรือท้องเสีย ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 - 2 วัน ต้องนำผู้สูงอายุพบแพทย์เพื่อการรักษาได้ทันท่วงที แต่ถ้ามีอาการมากควรพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมงหรือเป็นการฉุกเฉิน

การดูแลผู้สูงอายุด้านสุขภาพจิต
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาด้านสุขภาพจิตเสมอ สถิติในปี พศ. 2550 ในสหรัฐอเมริกา พบผู้สูง อายุที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตจนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย 14.3 คนต่อผู้สูงอายุ 100,000 คน ซึ่งในกลุ่มคนทั่วไปอัตราการฆ่าตัวตายคือ 11.3 คนต่อประชากร 100,000 คน ทั้งนี้เกิดจากเหตุผลดัง ได้กล่าวแล้วว่าเป็นวัยแห่งการสูญเสียและสิ้นพลัง จึงมักมีอาการซึมเศร้า กลัวเหงา ขาดความรัก ไม่เป็นที่ต้องการ และขาดความมีศักดิ์ศรี
ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุจึงต้องให้ความรักความนับถือเหมือนเมื่อครั้งผู้สูงอายุยังอยู่ในวัยทำงาน ให้ความเข้าใจ มีเวลาให้บ้าง สั่งสอนอบรมให้ลูกหลานยังคงเคารพนับถือ ไม่แสดงให้ผู้ สูงอายุรู้สึกว่าเป็นภาระ หมดคุณค่า เป็นที่ไม่ต้องการ หาทางช่วยเสริมสร้างศรัทธาในตนเองให้ กับผู้สูงอายุเช่น การได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมผู้สูงอายุด้วยกัน การได้มีส่วนร่วมในการดูแลครอบ ครัวโดยให้เหมาะสมกับสุขภาพผู้สูงอายุ การยังเป็นที่เคารพนับถือของคนในครอบครัวที่อาวุโสน้อยกว่า
ผู้สูงอายุควรมีโอกาสได้เข้าสังคมที่เหมาะสม การที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ขาดเพื่อนในวัยเดียวกัน หรือขาดคนพูดคุยผ่อนคลายความเหงา ยิ่งเป็นการบั่นทอนสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ
ผู้ดูแลและครอบครัวควรคอยสังเกตอาการซึมเศร้าของผู้สูงอายุเสมอ เมื่อมีอาการมาก หรือครอบครัวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ควรรีบปรึกษาแพทย์

การดูแลผู้สูงอายุด้านสิ่งแวดล้อม
สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุเช่น ควรจัดบ้านให้สะอาด และถ้าเป็นไปได้ ช่วยให้ผู้สูงอายุได้เห็นแสงแดดหรือห้องพักที่แสงแดดส่องถึง เพราะนอกจากช่วยฆ่าเชื้อโรคแล้ว แสงแดดจะมีผลต่อจิตใจให้ความรู้สึกที่สดชื่นและเกิดพลัง ช่วยลดการซึมเศร้าได้เป็นอย่างดี
มีต้นไม้ดอกไม้แม้จะเพียง 1 - 2 กระถางให้ผู้สูงอายุได้ดูแล ได้มีส่วนร่วม และได้เห็นถึง การมีชีวิตและการเจริญเติบโตซึ่งเกิดจากการดูแลของผู้สูงอายุเอง ซึ่งจะช่วยด้านอารมณ์และจิตใจของผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก



อ้างอิง
http://haamor.com/th/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B8/




















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น