การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
HOLISTIC HEALTH
เป็นการดูแลสุขภาพที่มีการบูรณาการความรู้ดั้งเดิมเข้ากับการบำบัดเสริม
เพื่อส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะที่ดี และป้องกันรักษาโรค
ในปัจจุบันมีการนำการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมไปใช้ในการบำบัดรักษาคนไข้หรือผู้ที่มีความไม่สบาย
ทำให้เกิดเป็นการแพทย์แบบองค์รวมขึ้น (Holistic
Medicine) การแพทย์แบบองค์รวมได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ
เปรียบเสมือนปรัชญาการสร้างสุขภาพและการรักษาโรค
ซึ่งจะพิจารณาองค์ประกอบทุกอย่างของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ
นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นไปที่การให้ผู้เข้ารับการบำบัดเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการบำบัดรักษา
หรือปฏิบัติตนเพื่อให้หายจากโรคภัยด้วยตนเอง
จะเห็นได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทพฤติกรรมสุขภาพจาก “เชิงรับ” มาเป็น “เชิงรุก” ในบางครั้งเรียกการแพทย์แบบองค์รวม
ว่าเป็นการแพทย์ทางเลือก (Alternative
Medicine) โดยไม่ได้จำกัดอยู่ที่วิธีใดวิธีหนึ่ง
หากแต่ครอบคลุมถึงการวินิจฉัยโรค การบำบัดรักษา และการส่งเสริมสุขภาพ
องค์การอนามัยโลก (World Health
Organization) ได้ให้คำนิยามของสุขภาพ
(Health) หมายถึงความสมบูรณ์ของร่างกาย จิตใจ
สังคม และจิตวิญญาณ ส่วนคำนิยามสุขภาวะ (Well-Being) คือ การที่สุขภาพทางกาย ทางจิตใจ ทางสังคม
และทางจิตวิญญาณอยู่กันอย่างสมดุล
1)
มิติทางกาย
ซึ่งเป็นมิติของสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสภาพโดยทั่วไปทางกายของมนุษย์ ทั้งภายใน
ภายนอก และรวมถึงสภาพแวดล้อมรอบตัวด้วย ทั้งนี้มิติทางกายจะยึดเอาความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย
ไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไร้ซึ่งโรคภัยเป็นสำคัญ โดยมีอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ
สมรรถนะทางกาย ภาวะทางเศรษฐกิจที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
เป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อสภาวะสุขภาพดังกล่าวได้
2) มิติทางจิต
ซึ่งเป็นมิติของสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสภาวะทางจิตใจหรืออารมณ์ที่มีผลกับสุขภาพโดยรวมของมนุษย์
ไม่ว่าจะเป็นภาวะอารมณ์ที่แจ่มใสร่าเริง ผ่อนคลายไม่ตึงเครียด
รู้สึกมีความสุขและปลอดโปร่ง
โดยที่มีหลักการจัดการกับสภาวะความเครียดไม่ให้เกิดวิกฤตทางอารมณ์เกิดขึ้นเป็นปัจจัยส่งผลต่อสภาวะสุขภาพจิตที่ดีได้
3) มิติทางสังคม
ซึ่งเป็นมิติของสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับสภาวะโดยทั่วไปทางสังคมที่มีผลกับสุขภาพโดยรวมของมนุษย์
ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคมที่มีความผาสุกทั้งระดับครอบครัว สังคมและชุมชน
โดยที่แต่ละระดับมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน สมาชิกในสังคมนั้นๆ
มีความเอื้ออาทรต่อกัน จัดระบบบริการจากภาครัฐที่มีความเสมอภาคกัน
สิ่งเหล่านี้จัดได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่จะส่งผลต่อสภาวะสุขภาพทางสังคมที่ดีได้
4) มิติทางปัญญาหรือทางจิตวิญญาณ
ซึ่งเป็นมิติของสุขภาพที่เกี่ยวกับการมีความรู้ เฉลียวฉลาด รู้เท่าทันสิ่งต่างๆ
ที่จะเปลี่ยนแปลงไป ทั้งทางกาย จิตใจ และสังคม
ทำให้เกิดแรงศรัทธาต่อตนเองและมีความหวังต่อความสำเร็จที่จะทำให้ตนเองมีความผาสุกด้วยสัมมาชีพและเป็นปัจจัยส่งผลต่อสภาวะสุขภาพโดยรวมของมนุษย์อย่างสมบูรณ์
แหล่งอ้างอิง :
ดวงกมล
ศักดิ์เลิศสกุล, 2549 อ้างถึงใน
ปรถ ปฐพีทอง, 2547
วิดีโอเสริมประกอบความเข้าใจ
https://youtu.be/DgeityRpyk0
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น